ทำยังไงให้มือถือแปลงร่างเป็นเครื่องเสียงไฮไฟ แอปฯ เล่นเพลงส่วนใหญ่ที่มากับตัวสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์แม้จะรองรับการเล่นไฟล์เสียงแบบ lossless โดยเฉพาะไฟล์ .flac แต่ก็มักจะมีข้อจำกัดในการรองรับฟอร์แมตเสียง Hi

By สุโสภาภรณ์ แดงอุบล

4 min read

เมื่อไม่นานนี้มีข่าวว่าสิทธิบัตรในฟอร์แมตไฟล์ mp3 ได้สิ้นสุดลงแล้ว พร้อม ๆ กับมีข่าวว่าทางผู้คิดค้นฟอร์แมตนี้จะเลิกสนับสนุนมันเสียแล้ว นั่นหมายความว่าอีกไม่นานฟอร์แมต mp3 จะถูกแทนที่ด้วยไฟล์ฟอร์แมต aac ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า

แต่ไม่ว่าจะ mp3 หรือว่า aac ผมว่าก็ไม่น่าเสียดายนักหรอกครับ เพราะทั้งคู่เป็นไฟล์เสียงแบบบีบอัดที่มีการสูญเสียของข้อมูลอย่างมาก (lossy compression) และให้คุณภาพเสียงในระดับ low fidelity ที่ฟอร์แมตทั้งสองประสบความสำเร็จได้ก็เพราะถูกค้นพบในยุคที่เรายังมีอินเตอร์เน็ตที่แสนจะเชื่องช้า หน่วยความจำข้อมูลมีราคาต่อหน่วยค่อนข้างสูงมาก การบีบอัดไฟล์เสียงจึงอาจจะยังมีความจำเป็น

แต่ในปัจจุบันเรามีสมาร์ทโฟนที่มีหน่วยประมวลผลทรงพลังกว่าคอมพิวเตอร์ราคาเท่า ๆ กันเมื่อสิบปีก่อน เรามีอินเตอร์ความเร็วสูง และหน่วยความจำข้อมูลประสิทธิภาพสูงที่ราคาย่อมเยาลงมาก ผมมองไม่เห็นความจำเป็นเลยครับที่จะต้องไปแคร์การอยู่หรือไปของฟอร์แมตไฟล์บีบอัพเสียงคุณภาพต่ำอย่าง mp3 และ aac

เหมือนที่ทุกวันนี้เราเคยชินกับวิดีโอ Full HD ที่เข้าถึงง่ายดายเสียเหลือเกินจนไม่มีใครสนใจว่าภาพจาก VCD หรือ DVD จะล้มหายตายจากไปหรือยังนั่นแหละครับ

“ไม่สนใจ mp3 และ aac แล้วจะสนใจอะไรดี” ผมมองว่าในยุคนี้นอกจากเราจะมีไฟล์คุณภาพสูงที่สามารถริบได้จากแผ่นซีดีเป็นฟอร์แมต lossless หรือ uncompressed แล้ว ในปัจจุบันยังมีไฟล์เสียงดิจิตอลรายละเอียดสูง (Hi-Res Audio) เป็นอีกหนึ่งเลือกสำหรับการเสพเสียงดนตรี ‘อย่างมีคุณภาพ’ อีกด้วยครับ

และที่ยกตัวอย่างสมาร์ทโฟนมาก่อนหน้านี้ก็เพราะว่าในปัจจุบันเราสามารถฟังไฟล์เสียงคุณภาพสูงเหล่านี้ได้จากสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ที่ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของเราไปแล้ว ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่ง่ายและไม่ทำให้เราต้องลงทุนอะไรมากมาย แล้วคุณจะเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเราจึงไม่ควรอาลัยอาวรณ์ไฟล์เสียงคุณภาพต่ำอย่าง mp3 หรือ aac อีกต่อไป…

มือถือกับไฟล์ Hi-Res Audio

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าบทความนี้ขอเอาใจคนที่ใช้มือถือสมาร์ทโฟนค่ายแอนดรอยด์ก่อน ส่วนคนที่ใช้มือถือ iOS หรือตระกูลไอโฟนทั้งหลายเอาไว้มีโอกาสเหมาะ ๆ จะมาเขียนถึงอีกที ที่เริ่มจากแอนดรอยด์ก็เพราะว่าตัว OS ค่อนข้างจะเป็นระบบเปิดที่เอื้อกับการเล่นไฟล์ Hi-Res Audio มากกว่า

อีกทั้งสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่เล่น Hi-Res Audio ได้และผมเคยได้ลองมาแล้วกับมือยังมีให้เลือกใช้งานได้ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้นราคาไม่กี่พันบาทอย่างเช่น Flash Plus 2, Meizu M2 Notes หรือ Wiko U Feel Prime ไปจนถึงรุ่นไฮเอนด์ราคาสองสามหมื่นอย่าง Huawei Mate 9, Samsung Galaxy S7 Edge หรือ Sony Xperia XZ

จากประสบการณ์ของผมสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รุ่นระดับเริ่มต้นราคาไม่กี่พันบาทส่วนมากก็รองรับการเล่นไฟล์เสียง lossless รวมถึงไฟล์ Hi-Res Audio แล้วนะครับ บ้างเล่นได้ถึง PCM 24bit/96kHz บางรุ่น DAC เสียงในตัวรองรับไปถึง PCM 24bit/192kHz เลยก็มีด้วยแอปฯ เล่นเพลงในตัวมันที่มาพร้อมกับเครื่องนี่แหละครับ

ส่วนรุ่นไฮเอนด์ทั้งหลายถ้าหากเป็นรุ่นใหม่ ๆ ที่ออกมาในช่วงปีหรือสองปีนี้แทบทั้งหมดรองรับไปถึง PCM 24bit/192kHz กันหมดแล้ว รุ่นไหนไปไม่ถึงนี่นับว่าเชยมากครับ บางรุ่นระบุเลยด้วยซ้ำว่าเลือกใช้ Audio DAC เกรดไฮไฟจากผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับในวงการเครื่องเสียงซะด้วย ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ

อ่อ นอกจากที่เล่าไปแล้ว จะมีอยู่บางยี่ห้อครับที่จะพิเศษกว่าเขาเพื่อน อย่างเช่นของยี่ห้อโซนี่ สมาร์ทโฟนของโซนี่ถ้าเป็นรุ่นระดับกลางขึ้นไปนอกจากจะเล่น PCM 24bit/192kHz ยังเล่นไฟล์เสียงฟอร์แมต DSD ได้อีกต่างหากครับ จากแอปฯ เล่นเพลงที่ติดมากับเครื่องนี่แหละครับ แถมยังมี CODEC สำหรับถอดรหัส DSD มาในตัวเครื่องเลย เรียกว่าไม่ให้เสียชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ให้กำเนิดไฟล์เสียงฟอร์แมต DSD เลยว่าอย่างนั้นเถอะ

อีกยี่ห้อก็คือ LG ที่พักหลังเน้นเรื่องคุณภาพเสียงมาก เช่น การใช้เทคโนโลยี Quad-DAC ในสมาร์ทโฟนระดับเรือธงรุ่นใหม่หลาย ๆ รุ่น อย่างเช่น LG V30+ ที่ผมใช้งานอยู่ สามารถเล่น native DSD ได้โดย แถมยังรองรับฟอร์แมต MQA ด้วยต่างหาก

นอกจากมือถือแอนดรอยด์แล้ว ในปัจจุบันทราบว่ายังมีเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาหรือ Digital Audio Player (DAP) อีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ระบบปฏิบัติการในตัวเครื่องเป็นระบบแอนดรอยด์เช่นกัน อย่างเช่น DAP ของยี่ห้อ AR เครื่องเล่นจำพวกนี้ใช้ระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือก็จริงแต่ส่วนของฮาร์ดแวร์หรือวงจรในเครื่องส่วนที่เกี่ยวกับเสียงนั้นเขาก็จัดเต็มมาเลย

ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่แคร์เรื่องการลงทุนที่คาดหวังเรื่องความคุ้มค่าสูงสุดจะเลือกใช้งานอุปกรณ์ประเภทนี้เพื่อความสะดวกก็ย่อมได้เช่นกัน… แต่ถ้ายังคาดหวังเรื่องความคุ้มค่าจากการใช้งานสมาร์ทโฟนอยู่ก็เลื่อนไปย่อหน้าถัดไปเลยครับ

USB Audio Player Pro แอปฯ เดียวเอาอยู่

แอปฯ เล่นเพลงส่วนใหญ่ที่มากับตัวสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์แม้จะรองรับการเล่นไฟล์เสียงแบบ lossless โดยเฉพาะไฟล์ แต่ก็มักจะมีข้อจำกัดในการรองรับฟอร์แมตเสียง Hi-Res Audio แม้แต่ของยี่ห้อโซนี่เองก็ยังรองรับแค่ DSD ในระดับพื้นฐานนั่นคือ DSD64 แต่ยังไม่รองรับ DSD128 หรือในระดับที่เหนือไปกว่านั้น รวมทั้งระบบการจัดการ library เพลงก็ยังทำได้แค่ระดับพอใช้ได้เท่านั้น

แต่โชคดีที่ยังมีแอปฯ เล่นเพลงระดับมือถือแอนดรอยด์อยู่ตัวหนึ่งครับที่มีความสามารถเหนือแอปฯ เล่นเพลงพื้นฐานในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ทุกรุ่นนั่นคือแอปฯ ชื่อ “USB Audio Player Pro” ดาวน์โหลดได้จาก Google Play Store ในราคา 312.57 บาท

“USB Audio Player Pro” พัฒนาโดยบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อ eXtream Software Development ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นแอปฯ เล่นเพลงในสมาร์ทโฟนที่มีจุดเด่นมากมายโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคุณภาพเสียงและการรองรับ Hi-Res Audio

ด้านคุณภาพเสียงตัวแอปฯ รองรับการเล่นไฟล์เพลงทั้งแบบ native bit perfect และ compatible conversion สามารถเล่นฟอร์แมตไฟล์เพลงมาตรฐานยอดนิยมได้แทบทุกนามสกุลในโลกนี้ รวมถึงไฟล์ DSD (.dsf/.dff) หรือแม้แต่ไฟล์ .iso ที่ริบมาจากแผ่น SACD ก็มองเห็นและเล่นได้!

เรียกว่าไม่ได้เป็นรองแอปฯ เล่นเพลงในเครื่องคอมพิวเตอร์เดสท้อปกันเลยทีเดียว ในส่วนของ Hi-Res Audio รองรับไฟล์ PCM สูงสุดถึงระดับ 32bit/384kHz สำหรับไฟล์ DSD รองรับไปถึง DSD256 (1bit/11.2896Mbit/s) !

“USB Audio Player Pro” สามารถเล่นได้กับทั้ง DAC ในตัวสมาร์ทโฟนเองและ Mobile USB DAC ที่นำมาต่อพ่วงจากภายนอก เนื่องจากตัวแอปฯ เองมี USB audio driver พิเศษที่พัฒนาขึ้นเองตั้งแต่ต้นทั้งหมด

ทำให้ตัวสมาร์ทโฟนสามารถมองเห็น Mobile USB DAC หรือ USB DAC ส่วนใหญ่ได้เลยเมื่อมีการต่อใช้งานกับสมาร์ทโฟนผ่านตัวแปลงขั้วสัญญาณที่เรียกว่า OTG (USB HOST OTG CABLE) ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปทั้งในตลาดสินค้าไอทีและสินค้าดิจิตอลไฮไฟ

อีกหนึ่งความพิเศษของแอปฯ นี้ก็คือ ความสามารถในการสตรีมไฟล์เพลงผ่านระบบเน็ตเวิร์ค ซึ่งรองรับทั้ง UPnP/DLNA Server และ Music Streaming Service (TIDAL, Qobus) คุณสมบัตินี้ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนักในแอปฯ เล่นเพลงทั่วไป โดยเฉพาะแอปฯ เล่นเพลงในสมาร์ทโฟน

ทำให้การสตรีมเพลงจากระบบเน็ตเวิร์คมาฟังมีคุณภาพที่ไว้ใจได้มากขึ้น และยังมีส่วนทำให้คุณภาพเสียงดีขึ้นด้วยจากซอฟต์แวร์เฉพาะของแอปฯ ตัวนี้

นอกจากนั้นแอปฯ USB Audio Player Pro ยังมีการอัปเดตที่ค่อนข้างบ่อย มีคุณสมบัติพื้นฐานของแอปฯ เล่นเพลงคุณภาพสูงอยู่ครบถ้วน รองรับการเล่นทั้งโหมด native bit perfect, sample rate conversion และ format conversion หรือจะเป็นลูกเล่นอย่างการปรับแต่งเสียงด้วย EQ ก็มี

หรือจะใช้งานเป็น UPnP Renderer ก็ได้ด้วยเช่นกัน ล่าสุดเพิ่มฟังก์ชั่น Crossfeed สำหรับหูฟังให้ฟังเหมือนกับว่าฟังจากลำโพงมาอีกต่างหากครับ

การตั้งค่าเบื้องต้น และการใช้งานเป็นเครื่องเล่นเพลงพกพา

ก่อนใช้งานแอปฯ USB Audio Player Pro ผมแนะนำให้เข้าไปตั้งค่าพื้นฐานที่ควรจะทราบก่อนการใช้งานครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเน้นคุณภาพเสียงแนะนำให้ตั้งค่าตามนี้เลยครับ (เนื่องจากปัจจุบันตัวแอปฯ มีการอัปเดตไปมาก แนะนำให้ดูตามคลิปจะเป็นอะไรที่ทันสมัยกว่าในบทความครับ แต่โดยพื้นฐานก็จะคล้าย ๆ กัน)

การตั้งค่าให้เข้าหน้าหลัก มองหาสัญลักษณ์ 3 จุด ที่มุมขวาด้านบน แล้วเข้าไปที่ Settings > ‘Play through Android’ เพื่อให้สามารถใช้งาน DAC ในตัวสมาร์ทโฟน ติ้กที่หัวข้อ ‘Use USB DAC’ เมื่อต้องการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนกับ USB DAC ภายนอกด้วย ในกรณีทั่วไปผมแนะนำให้ติ้กไว้ทั้งคู่เลยครับ เวลาเล่นมันจะเลือกเองโดยอัตโนมัติ

ในกรณีที่เราต้องการเก็บไฟล์เพลงเอาไว้ในสมาร์ทโฟนสามารถทำได้ทั้งเก็บไว้ในเมมโมรี่ของตัวเครื่องเอง หรือเมมโมรี่เสริมอย่าง microSD Card ที่สมาร์ทโฟนหลาย ๆ รุ่นสามารถใส่เพิ่มได้ ระบบ library ของแอปฯ จะมองหาและจัดระเบียบไฟล์เหล่านั้นให้เองตามหมวดหมู่ที่ไฟล์นั้น ๆ มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Artist, Artist Album, Albums, Playlists, Tracks, Genres หรือ Composers

ติ้กที่ ‘Bit perfect (USB Audio)’ เพื่อให้เวลาใช้งาน USB DAC ภายนอก สัญญาณที่ส่งออกไปจากสมาร์ทโฟนจะเป็นแบบ bit perfect ส่วน ‘Android sample rate’ แนะนำให้เลือกที่ ‘Variable rate’ สัญญาณที่ส่งไปยัง DAC จะเป็นไปตามสัญญาณเสียงต้นฉบับ ติ้กที่ ‘Auto scan on start-up’ เพื่อให้ระบบ library ของแอปฯ มองเห็นความเปลี่ยนของไฟล์เพลงที่เราได้เพิ่มหรือลบออกจากเครื่องโดยอัตโนมัติ

สำหรับหัวข้อ ‘DSD mode’ ก็ให้เลือกตามความสามารถของ DAC ในทางทฤษฎีถ้า DAC นั้น ๆ สามารถรองรับได้ ‘Native DSD’ จะให้คุณภาพเสียงดีที่สุด โดยมี ‘DoP (DSD over PCM)’ และ ‘DSD to PCM conversion’ รองลงไปตามลำดับ สำหรับ DAC ที่ไม่รองรับ DSD เลยอย่างเช่น DAC ในสมาร์ทโฟนทั่วไปก็ให้เลือกที่ ‘DSD to PCM conversion’

การเล่นไฟล์เพลงก็ตรงไปตรงมาครับ ไม่ต่างจากเวลาที่เราเล่นเพลงจากแอปฯ เล่นเพลงต่าง ๆ แต่ความสำคัญที่ต้องสนใจจะมาอยู่นี้ครับ คือในหน้าที่แสดงผลการเล่นเพลง (Now playing) ในหน้านี้จะแสดงข้อมูลสำคัญอยู่ 2 ส่วนด้วยกันดังรายละเอียดที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น

สำหรับหัวข้อ ‘Volume control’ แนะนำให้เลือกที่ ‘Hardware volume control (if available)’ คือถ้า DAC ที่คุณใช้งานในส่วนของการปรับความดังของเสียงแบบควบคุมด้วยฮาร์ดแวร์ซึ่งมักจะให้เสียงดีกว่าแบบที่ใช้ซอฟต์แวร์

อย่างเช่น Audioquest Dragonfly Red/Black หรือ iFi nano iDSD ตัวแอปฯ ก็จะไปใช้งานในส่วนนั้นแล้วบายพาสส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ให้โดยอัตโนมัติ

ในส่วน A จะแสดงว่าเราใช้งาน DAC ส่วนไหนอยู่และแสดง sample rate ที่ DAC นั้น ๆ กำลังเล่นอยู่ ถ้าแสดงผลว่า ‘Android’ หมายถึงใช้ DAC ในสมาร์ทโฟนอยู่

แต่ถ้าต่อ USB DAC ข้างนอกส่วนนี้จะแสดงผลเป็น ‘DAC’ อนึ่งในกรณีที่ใช้ DAC ในตัวสมาร์ทโฟน รายละเอียดในส่วนนี้ยังสามารถใช้พิสูจน์ได้ด้วยครับว่า DAC มีความสามารถในการรองรับสัญญาณ Hi-Res Audio ได้ถึงระดับใด

ในส่วน B จะแสดงผล sample rate, bit และ bit rate ของไฟล์เสียงต้นฉบับที่กำลังเล่นอยู่ในขณะนั้น ในกรณีที่ไฟล์เสียงที่เล่นนั้นมี resolution เกินความสามารถของ DAC ที่ใช้งานอยู่ ตัวแอปฯ จะจัดการแปลงสัญญาณลงมาอย่างเหมาะสม (ด้วยตัวคูณที่ลงตัว) เพื่อให้ DAC ที่เราใช้งานสามารถเล่นไฟล์นั้น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเล่นแบบ bit perfect

ซึ่งคุณภาพเสียงอาจจะไม่ดีที่สุดเท่าเล่นแบบ native แต่ก็สามารถเล่นได้ด้วย คุณภาพเสียงที่ดีตามสมควร อย่างเช่นในกรณีนี้ที่เล่นไฟล์ DSD กับ DAC ในตัวสมาร์ทโฟน ซึ่งรองรับได้เพียง PCM 24bit/192kHz เท่านั้น ซอฟต์แวร์ของแอปฯ ก็แปลงไฟล์ DSD เป็น PCM 24bit และลด sample rate ลงมาเหลือ 176.4kHz เพื่อให้ DAC ในตัว Huawei Mate 9 สามารถเล่นไฟล์เพลงนี้ได้

เพลงมีมากมายไม่พอเก็บในเครื่อง สตรีมเอาก็ได้ไม่ใช่ปัญหา

ในบางกรณีที่เราไม่อยากเก็บเพลงทั้งหมดไว้ในเครื่อง หรือไฟล์เพลงของเรามีมากจนเกินจะเก็บในเครื่องได้ (แม้ว่าจะเสริมด้วย microSD Card แล้วก็ตาม) เราสามารถเก็บไฟล์เอาไว้ใน UPnP/DLNA Music Server แล้วค่อยสตรีมมาฟังด้วยแอปฯ นี้ก็ได้

สำหรับ UPnP/DLNA Music Server หากไม่ได้ใช้งานอุปกรณ์ประเภท NAS เรายังสามารถทำเองได้ง่าย ๆ จากการใช้งานฟังก์ชั่นของเราต์เตอร์บางรุ่น หรือติดตั้งซอฟต์แวร์อย่าง Minimserver ในคอมพิวเตอร์เอาก็ได้เช่นกัน

ในการใช้งานโหมดนี้ให้เลือกที่แถบเมนูตามภาพ โดยเลือกไปที่ ‘UPnP/DLNA servers’ หน้าแอปฯ จะแสดงรายชื่อ server ในระบบของเราขึ้นมา ซึ่งในที่นี้คือ Minimserver ตามภาพ

การเล่นในโหมดที่สตรีมจาก ‘UPnP/DLNA servers’ นี้การแสดงหมวดหมู่ของเพลงจะเป็นไปตามคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ music server นั้น ๆ และจะไม่มีโหมดแสดงเป็น full cover thumbnail เหมือนในโหมดอื่น ๆ

นอกจาก UPnP/DLNA servers เรายังสามารถสตรีมเพลงจาก Music Streaming Service ได้ด้วย ซึ่งในที่นี้คือ การสตรีมจากTIDAL การสตรีมจาก TIDAL มีการตั้งค่าอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ นั่นคือ ตั้งค่า login ตามที่เราได้สมัครใช้บริการกับ TIDAL เอาไว้ (A) และการตั้งค่าเลือกคุณภาพเสียงที่สตรีม (B) ตัวอย่างหน้าแอปฯ USB Audio Player Pro ในโหมดการสตรีมจาก TIDAL

อัปเกรดด้วย DAC/AMP เสริมเพิ่มประสิทธิภาพ

นอกจากการเล่นด้วย DAC ในตัวสมาร์ทโฟนเองแล้ว แอปฯ นี้ยังรองรับการเล่นผ่าน USB DAC ภายนอกด้วยโดยเฉพาะ Mobile USB DAC ที่ออกแบบมาสำหรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน อย่างเช่น iFi nano iDSD, Audioquest Dragonfly Red/Black หรือ ADL A1

การใช้งานในโหมดนี้เราต้องการอุปกรณ์เพิ่มเติมแค่เพียงสาย OTG หากทางผู้ผลิต Mobile USB DAC ไม่มีแถมมาให้ด้วย ก็สามารถหาซื้อได้เพิ่มเติมมีทั้งเกรดไอทีทั่วไป (ผมแนะนำยี่ห้อ ProLink หรือ Belkin) หรือหากจะมองหาเป็นเกรดไฮไฟก็มีขายอยู่บ้างเหมือนกันครับ อย่างเช่นของยี่ห้อ Furutech

เอาล่ะครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะได้ไอเดียดี ๆ สำหรับการเล่นเพลงให้ได้คุณภาพเสียงในระดับสูงจากสมาร์ทโฟนตัวเก่งของท่านแล้ว และท่านจะทราบดีว่าเพราะเหตุใดเราจึงไม่ควรอาลัยอาวรณ์ไฟล์อย่าง mp3 อีกต่อไป ขอให้เพลิดเพลินกับการฟังเพลงและดนตรีคุณภาพแบบง่าย ๆ แต่ได้คุณภาพเกินคุ้มครับ… Happy Listening!