มา 'เล่นเครื่องเสียง' กันเถอะ.!

By สุโสภาภรณ์ แดงอุบล

“เพลง” เป็นของขวัญของชาวโลก และ “การเล่นเครื่องเสียง” ก็เป็นกิจกรรมสันทนาการที่มนุษย์ทุกคน สามารถเข้าถึงได้ ผมอยากเชิญชวนให้ท่านที่ชอบฟังเพลงหันมาเริ่มเครื่องเสียงกัน เพราะการเล่นเครื่องเสียงเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุขใจ ช่วยสร้างความบันเทิงใจให้กับผู้เล่นฯ และช่วยลดอาการเครียดจากการทำงานได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของการเล่นเครื่องเสียงก็คือทำให้ผู้เล่นที่มีความชื่นชอบการฟังเพลง สามารถเข้าถึงอารมณ์และสาระของเพลงที่ฟังได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เนื่องจากชุดเครื่องเสียงที่มีคุณภาพดี และได้รับการเซ็ตอัพอย่างถูกต้อง จะทำหน้าที่ในการแยกแยะรายละเอียดในเพลงออกมาให้ผู้ฟังสัมผัสได้มากกว่าการฟังผ่านชุดเครื่องเสียงธรรมดาทั่วไป ช่วยเปิดโลกทัศน์ในการฟังเพลงให้กว้างออกไปอย่างมาก ซึ่งถือว่าสิ่งนี้คือคุณประโยชน์ที่แท้จริงของ “การเล่นเครื่องเสียง” นั่นเอง

“ชุดเครื่องเสียง” (Hi-Fi System) เป็นความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมี “ถ้า” คิดจะเริ่มต้นเล่นเครื่องเสียงจริงๆ เพราะชุดเครื่องเสียงคืออุปกรณ์สำคัญที่ใช้สำหรับกิจกรรมในการเล่นเครื่องเสียง เนื่องเพราะ “การเล่นเครื่องเสียง” ก็คือกิจกรรมที่เราต้องเข้าไป “กระทำ” กับอุปกรณ์ในชุดเครื่องเสียงเพื่อให้ได้ “คุณภาพเสียง” และ “ลักษณะเสียง” ออกมาตามที่เจ้าของซิสเต็มต้องการ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเล่นเครื่องเสียง

จริงๆ แล้ว ความสนุกของ “การเล่นเครื่องเสียง” อยู่ที่ประสบการณ์ที่ผู้เล่นค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทีละขั้น ทั้งการเรียนรู้ในส่วนของ “คุณภาพเสียง” และ “เทคนิคการปรับแต่งชุดเครื่องเสียง” ดังนั้น ชุดเครื่องเสียงที่จะใช้เป็นชุดเริ่มต้นในการเล่นเครื่องเสียงจึงไม่ควรจะมีราคาสูงมาก เพื่อให้ผู้เล่นสามารถเก็บเกี่ยวความสนุกไปได้เรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องเสียงในซิสเต็มเพื่ออัพเกรดประสิทธิภาพเสียงขึ้นไปทีละขั้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าสำหรับการเล่นเครื่องเสียง และทำให้การเล่นเครื่องเสียงมีความสนุก พัฒนาไปในทิศทางที่ถูกที่ควร

เพราะผู้เล่นควรจะต้อง “รู้ด้วยตัวเอง” ทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องเสียงชิ้นใดลงไปในซิสเต็มของตัวเอง คือควรจะต้องรู้ก่อนว่า คุณต้องการให้คุณสมบัติส่วนไหนของเสียงในซิสเต็มของตัวเองดีขึ้น.? ควรจะตอบตัวเองให้ได้ชัดเจนซะก่อนที่จะเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องเสียงตัวใหม่เข้ามาในระบบเดิม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวิเคราะห์รู้แน่ชัดแล้วว่า ในขณะเวลานั้น คุณต้องการเสียงทุ้มที่ดีขึ้นกว่าเดิม จากนั้นจึงค่อยมาวิเคราะห์กับซิสเต็มตัวเองต่อไปว่า ถ้าจะทำให้ได้เสียงทุ้มที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ควรจะต้องอัพเกรดด้วยการเปลี่ยนอุปกรณ์ตัวไหนลงไปแทนตัวเดิมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาตามที่คาดหวังซึ่งได้ตั้งเป็นโจทย์ไว้ อย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่า เล่นเครื่องเสียงอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล

ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ บวกกับมาตรฐานการผลิตอุปกรณ์เครื่องเสียงที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การเล่นเครื่องเสียงในปัจจุบันใช้งบประมาณไม่สูงก็สามารถซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงต่างๆ มาประกอบเป็นชุดเครื่องเสียงเพื่อใช้เป็นชุดเริ่มต้นในการเล่นเครื่องเสียงที่มีประสิทธิภาพสูงมากพอ ทั้งสำหรับใช้เป็นชุดเริ่มต้นในการหาประสบการณ์ในการเล่นเครื่องเสียง หรือจะใช้เป็นชุดเครื่องเสียงเพื่อการฟังเพลงให้ได้อรรถรสสูงกว่าปกติทั่วไปก็ได้

แนวคิดสำหรับหลักการเลือกซื้ออุปกรณ์แต่ละส่วนเพื่อนำมาจัดเป็นชุดเครื่องเสียง ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลายส่วน อย่างเช่น ขนาดของพื้นที่, งบประมาณ ฯลฯ ซึ่งในโอกาสต่อไปผมจะคัดเลือกชุดเครื่องเสียงในระดับเริ่มต้นสำหรับการเล่นเครื่องเสียงมานำเสนอพร้อมข้อมูลการพิจารณาในแง่ความเหมาะสมสำหรับชุดนั้นๆ ต่อไป

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องของการเลือกซื้อ เรามาทำความรู้จักกับพื้นฐานการทำงานของชุดเครื่องเสียงกันก่อนดีกว่า

เมื่อพิจารณาจากลักษณะการทำงานของชุดเครื่องเสียงโดยทั่วไป ชุดเครื่องเสียงมาตรฐานจะต้องประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก 3 ส่วนที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นระบบ นั่นคือ

อุปกรณ์ส่วนแรกของชุดเครื่องเสียงคือ “แหล่งต้นทางสัญญาณ” หรือ Source ทำหน้าที่ในการสร้างสัญญาณเสียงเพลงให้กับระบบ แล้วจัดส่งสัญญาณเสียงนั้นออกไปให้ส่วนที่สองคือ “แอมปลิฟาย” เพื่อทำหน้าที่ในการขยายกำลังของสัญญาณเสียงเพลงนั้นให้มีพลังมากขึ้น พอที่จะสามารถส่งไปขับดันให้ไดเวอร์ของลำโพงขยับตัวเพื่อเปล่งเสียงเพลงออกไปได้ด้วยระดับความดังตามที่เราต้องการ ซึ่ง “ลำโพง” ก็คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นด่านสุดท้ายในการแปลงสัญญาณเสียงเพลงที่อยู่ในรูปของไฟฟ้า (โวลเตจ) ที่ได้รับมาจากแอมปลิฟาย ให้ออกมาเป็นคลื่นเสียง เดินทางไปเข้าหูของผู้ฟัง

นอกเหนือจากอุปกรณ์หลักทั้ง 3 ส่วนนี้แล้ว ในการเล่นเครื่องเสียง ยังมีอุปกรณ์ที่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงอีกส่วนหนึ่ง อาทิเช่น ตัวกรองไฟ, ชั้นวางเครื่อง, อุปกรณ์รองสาย, ทิปโท (ตัวรองใต้เครื่อง) ฯลฯ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มของ “อุปกรณ์เสริม” (Accessories) คือใช้เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียงในบางด้าน แต่ไม่ใช่อุปกรณ์หลัก ความหมายคือถึงจะไม่มีอุปกรณ์เสริม ชุดเครื่องเสียงก็ยังสามารถทำงานได้นั่นเอง การใช้งานอุปกรณ์เสริมเข้ามาในซิสเต็มถือเป็นศิลปะระดับสูงสำหรับนักเล่นฯ ที่มีประสบการณ์ในการฟังที่สามารถแยกแยะรายละเอียดเสียงได้ดี และมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของ “คุณภาพเสียง” ที่กระจ่างแล้ว บวกกับต้องมีทักษะในการเซ็ตอัพและปรับจูนซิสเต็มอีกด้วย

ประเภทของแหล่งต้นทางสัญญาณมีอยู่หลากหลาย ในที่นี้จะขอแนะนำเฉพาะประเภทที่รู้จักกันดีและมีใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้แก่

เป็นอุปกรณ์เครื่องเล่นที่ต้องใช้คู่กับแผ่นเสียง (Longplay) ซึ่งเป็นตัวกลางที่เก็บสัญญาณเสียงเพลงที่อยู่ในรูปของสัญญาณอะนาลอก (analog)

เป็นอุปกรณ์เครื่องเล่นที่ต้องใช้งานร่วมกันแผ่นซีดี (Compact Disc) ซึ่งเป็นตัวกลางที่เก็บสัญญาณเสียงเพลงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัล (digital)

เป็นอุปกรณ์เครื่องเล่นที่ต้องใช้คู่กับไฟล์เพลงที่อยู่ในรูปของ digital file ฟอร์แม็ตต่างๆ ที่จัดเก็บอยู่ตามแหล่งต่างๆ อาทิเช่น ในฮาร์ดดิสของผู้ใช้ หรือในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการเช่าฟังเพลงทางอินเตอร์เน็ต อย่างเช่น TIDAL และ Spotify เป็นต้น

ในชุดเครื่องเสียงแต่ละชุดสามารถประกอบด้วยแหล่งต้นทางสัญญาณได้ “มากกว่า” หนึ่งแหล่ง ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของซิสเต็ม และขึ้นอยู่กับความสามารถในการรองรับอินพุต (input) ของอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในส่วนของแอมปลิฟายที่เรียกว่า “ปรีแอมป์” ด้วย

แอมปลิฟายคืออุปกรณ์ที่มีหน้าที่ในการขยายกำลังของสัญญาณเสียงเพลงที่รับมาจากแหล่งต้นทางสัญญาณให้มีความแรงมากพอที่จะสามารถขับดันไดเวอร์ของลำโพงให้ขยับตัวเปล่งเสียงออกมาให้เราฟังได้อย่างน่าพอใจ

ปัจจุบัน อุปกรณ์เครื่องเสียงในกลุ่มของแอมปลิฟายมีอยู่ 2-3 รูปแบบด้วยกัน แบ่งออกได้ตามนี้

ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการ “รองรับ” สัญญาณเสียงจากต้นทางสัญญาณที่มาจากแหล่งต่างๆ อาทิเช่น จากเครื่องเล่นซีดี, จากเครื่องเล่นแผ่นเสียง และจากเครื่องเล่นไฟล์เพลง เป็นต้น

มีปรีแอมป์บางรุ่นในปัจจุบันได้รวมเอาส่วนของแหล่งต้นทางบางอย่างเข้าไปรวมอยู่ในตัวด้วย อาทิเช่น เอาภาคขยายหัวเข็ม ซึ่งเป็นภาควงจรขยายสัญญาณจากหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เรียกว่า “โฟโน ปรีแอมป์” (Phono Preamp)* เข้ามาไว้ในตัว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียงไม่ต้องเสียเงินไปหาซื้อ Phono Preamp มาใช้

ปัจจุบัน มีผู้ผลิตปรีแอมป์หลายๆ เจ้าได้เริ่มผนวกเอาภาคแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาลอก (Digital-to-Analog converter)** เข้ามาติดตั้งไว้ในปรีแอมป์ด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่ใช้วิธีเล่นไฟล์เพลงด้วยโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ไม่ต้องเสียเงินไปหาซื้ออุปกรณ์ประเภท Digital-to-Analog converter (มักจะเรียกสั้นๆ ว่า DAC) มาใช้

* เนื่องจากสัญญาณจากหัวเข็มมีความดังต่ำ (Low Gain) กว่ามาตรฐานของสัญญาณในระดับ Line Level ที่ปรีแอมป์ต้องการ ผู้ผลิตหัวเข็มสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงจึงได้ทำการออกแบบวงจรขยายสัญญาณขึ้นมา เรียกว่า Phono Preamp เพื่อใช้ขยายสัญญาณจากหัวเข็มให้มีความแรงมากขึ้นในระดับที่เท่ากับความแรงมาตรฐานของสัญญาณในระดับ Line Level ก่อนจะส่งมาที่ภาคปรีแอมป์

** เป็นภาคการทำงานที่จำเป็นสำหรับแหล่งต้นทางที่ทำหน้าที่เล่นสัญญาณเพลงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เพลงที่เล่นด้วยโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์, ไฟล์เพลงที่เล่นด้วยเครื่องเล่นมิวสิค สตรีมเมอร์ รวมถึงสัญญาณดิจิตัลบนแผ่นซีดีที่เล่นจากเครื่องเล่นซีดีด้วย เนื่องจากเครื่องเล่นสัญญาณดิจิตัลเหล่านี้ต้องมีภาค DAC เพื่อแปลงสัญญาณดิจิตัลเหล่านั้นให้ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกก่อนจะส่งต่อไปให้แอมปลิฟาย

โดยหลักการแล้ว หลังจากรับสัญญาณเสียงเพลงจากแหล่งต้นทางต่างๆ เข้ามาแล้ว ในตัวปรีแอมป์บางตัวจะมีวงจรฟิลเตอร์ (Filter) ที่ทำหน้าที่กรองสัญญาณรบกวนบางอย่างออกไปจากตัวสัญญาณที่รับเข้ามา และจัดการตัดทอนรวมถึงปรับตั้งสัญญาณใหม่ให้ได้ลักษณะเสียงออกมาตามที่ผู้ออกแบบปรีแอมป์ต้องการ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีโอกาสที่จะทำให้สัญญาณที่รับเข้ามามีความเข้มลดลง ความแรงสัญญาณอาจจะต่ำลงไปด้วย ก่อนที่ตัวปรีแอมป์จะจัดส่งสัญญาณเสียงจากอินพุตไปให้กับตัวเพาเวอร์แอมป์รับหน้าที่ต่อไป ตัวปรีแอมป์มักจะทำการขยายสัญญาณเหล่านั้นด้วยอัตราขยายต่ำๆ ก่อน เพื่อให้สัญญาณเหล่านั้นมีความแรงขึ้นมาระดับหนึ่งและเป็นการชดเชยเผื่อไปกับความสูญเสียของสัญญาณที่จะเกิดขึ้นขณะเดินทางผ่านสายสัญญาณไปที่ตัวเพาเวอร์แอมป์ด้วย

โดยปกติแล้ว เพาเวอร์แอมป์จะมีหน้าที่เดียว นั่นคือขยายสัญญาณที่รับมาจากปรีแอมป์ด้วยอัตราขยายระดับสูง เพื่อให้สัญญาณนั้นมีความแรงมากพอที่จะไปขับดันไดอะแฟรมของไดเวอร์ของตัวลำโพงให้สามารถเคลื่อนขยับตัวเดินหน้า–ถอยหลังเพื่อสร้างคลื่นเสียงออกไปในอากาศได้ด้วยระดับความดังตามที่เราต้องการ

เป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่รวบรวมเอาส่วนการทำงานของปรีแอมป์ กับการทำงานในส่วนของเพาเวอร์แอมป์ เข้ามารวมไว้ในตัวถังเดียวกัน เพื่อความสะดวกสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการความเรียบง่าย แต่ก็มีข้อจำกัดในแง่ของการอัพเกรดเพื่อขยับขยายทางด้านกำลังขับของเพาเวอร์แอมป์ให้สูงขึ้น ซึ่งต้องยกเปลี่ยนทั้งตัว ไม่สามารถแยกส่วนอัพเกรดได้เหมือนกับการใช้ปรีแอมป์ + เพาเวอร์แอมป์ที่ส่วนตัวถังกัน แต่ปัญหานี้ก็ได้ถูกทำให้เบาบางลงแล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีอินติเกรตแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ ออกมาให้เลือกใช้มากขึ้น ผู้ซื้อสามารถเผื่ออนาคตได้ด้วยการเลือกใช้อินติเกรตแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ เพื่อให้สามารถขับลำโพงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานร่วมกับลำโพงได้หลากหลาย

ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้ผลิตอินติเกรตแอมป์หลายยี่ห้อที่นำเอาภาคการทำงานที่เกี่ยวข้องกับแหล่งต้นทางสัญญาณอย่างเช่น ภาคขยายหัวเข็ม (Phono Preamp) และ ภาคแปลงสัญญาณดิจิตัลเป็นอะนาลอก (Digital-to-Analog converter) เข้ามาติดตั้งไว้ในตัวอินติเกรตแอมป์ด้วย ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้แล้ว ยังมีเหตุผลทางด้านเทคนิคสนับสนุนการทำเช่นนั้นด้วย นั่นคือเรื่องของการ “แม็ทชิ่ง” ระหว่างภาคเอ๊าต์พุตของตัว Phono Preamp หรือภาคเอ๊าต์พุตของ DAC ที่จะส่งมาให้ภาคปรีแอมป์ เมื่อตัว Phono Preamp และ DAC เข้ามาอยู่ในตัวอินติเกรตแอมป์ จึงตัดประเด็นของสายสัญญาณออกไปได้ ทำให้สัญญาณ output ของตัว Phono Preamp และ DAC ถูกต่อเข้าถึงภาค input ของตัวปรีแอมป์ที่อยู่ในตัวอินติเกรตแอมป์ได้โดยตรง และเอ๊าต์พุตของตัวปรีแอมป์ก็ต่อตรงเข้าสู่ภาคเพาเวอร์แอมป์โดยไม่ผ่านสายสัญญาณ ก็มีผลดีในแง่ของแม็ทชิ่งอีกเช่นกัน

เป็นอุปกรณ์ด่านสุดท้ายของชุดเครื่องเสียง มีหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณไฟฟ้าให้กลายเป็นคลื่นเสียงออกไปในอากาศ ประสิทธิภาพของลำโพงขึ้นตรงกับปัจจัยหลักๆ 2 ส่วนที่ทำงานผสานกัน ส่วนแรกคือ “ขนาด” และ “จำนวน” ของไดเวอร์ที่ใช้ รวมถึง “เทคโนโลยี” ที่ใช้ในการออกแบบไดเวอร์เหล่านั้นด้วย ส่วนที่สองคือ “ขนาด“, “วัสดุที่ใช้ทำผนังตู้” และ “ลักษณะโครงสร้าง” ของตัวตู้

ลำโพงเป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงชนิดเดียวในชุดเครื่องเสียงที่อาศัยหลักการทำงานของ ระบบกลไก (mechanism) เข้ามาเกี่ยวข้องเกือบทั้งหมด มีชิ้นส่วนที่ทำงานด้วยพื้นฐานอิเล็กทรอนิคประกอบอยู่แค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ นั่นคือส่วนของ “วงจรเน็ทเวิร์ค” ที่ทำหน้าที่ในการตัดแบ่งความถี่เสียงเพื่อป้อนให้กับไดเวอร์แต่ละตัวนั่นเอง ซึ่งวงจรเน็ทเวิร์คที่ว่านี้ก็เป็นแบบพาสซีฟ (passive) ซะด้วย คือไม่ได้ใช้ไฟเลี้ยงในการทำงาน

ประสิทธิภาพของลำโพงแต่ละคู่ จะวัดกันที่ความสามารถในการถ่ายทอด “ความถี่เสียง” (Frequency Response) กับความสามารถในการถ่ายทอด “อัตราสวิงของความดัง” (Dynamic Range) ซึ่งประสิทธิภาพของลำโพงแต่ละคู่ในการตอบสนองต่อสัญญาณเสียงทั้งสองคุณสมบัตินี้ ผู้ซื้อสามารถเปรียบเทียบดูได้จากรายละเอียดข้อมูลในส่วนที่เป็น specification ของลำโพงคู่นั้นๆ ซึ่งมักจะระบุแจ้งไว้ในสมุดคู่มือ หรือบนเว็บไซต์ของผู้ผลิต

ลำโพงที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดเครื่องเสียงทุกวันนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนตัดสินใจในการเลือกซื้อ นั่นคือ

เป็นลำโพงที่มีรูปทรงของตัวตู้ออกไปทางสูง สามารถวางลงบนพื้นห้องได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้ง ตรงตามชื่อของมัน มีหลายขนาดให้เลือก ส่วนใหญ่แล้ว ขนาดของตัวตู้ลำโพงจะขึ้นอยู่กับขนาดของไดเวอร์ที่ใช้ขับเสียงทุ้ม (เรียกว่า “วูฟเฟอร์ – woofer“) เป็นหลัก ถ้าเป็นรุ่นที่ใช้วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ ตัวตู้ของลำโพงรุ่นนั้นก็จะมีขนาดที่ใหญ่ตามไปด้วย และในทางกลับกัน

ข้อบ่งใช้สำหรับลำโพงตั้งพื้นก็คือ พื้นที่ต้องมีความกว้างใหญ่พอประมาณ ไม่เหมาะกับห้อง หรือพื้นที่ขนาดเล็ก เนื่องจากคุณสมบัติเด่นของลำโพงตั้งพื้นที่มีอยู่ 2 ข้อ นั่นคือ ตอบสนองความถี่เสียงได้กว้าง เพราะให้เสียงทุ้มที่ตอบสนองความถี่ลงไปได้ต่ำกว่าลำโพงที่มีขนาดเล็กกว่า ลำโพงตั้งพื้นจึงให้ความถี่เสียงออกมาครบย่านเสียงมากกว่าลำโพงเล็ก ส่วนความสามารถอีกข้อหนึ่งของลำโพงตั้งพื้นก็คือ สามารถเปิดได้ดังมากโดยให้ความเพี้ยนอยู่ในระดับต่ำ ลำโพงตั้งพื้นจึงเหมาะกับการใช้งานในห้องขนาดใหญ่ และต้องการเปิดฟังในระดับวอลลุ่มที่ค่อนข้างดังมาก และเหมาะกับนักเล่นฯ ที่ชื่นชอบเสียงในย่านความถี่ต่ำเป็นพิเศษ

เป็นลำโพงที่มีตัวตู้ขนาดเล็ก ขณะใช้งานจำเป็นต้องอยู่ในระดับความสูงที่พอเหมาะ จึงต้องจัดวางไว้บนโต๊ะ หรือบนชั้นวางของ หรือชั้นวางหนังสือ เนื่องจากสมัยก่อนโน้นที่เมืองนอกนิยมวางไว้บนหิ้งวางหนังสือ จึงเรียกกันติดปากว่าเป็นลำโพงวางหิ้ง แต่สำหรับนักเล่นฯ ที่เน้นคุณภาพเสียงจะวางบนขาตั้งที่ออกแบบมาเฉพาะ ซึ่งขาตั้งของลำโพงจะมีผลต่อคุณภาพเสียงของลำโพงประเภทนี้มากพอสมควร

ขนาดของลำโพงวางหิ้ง (ขอเรียกตามชื่อดั้งเดิมของมัน) จะขึ้นอยู่กับขนาดของวูฟเฟอร์เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ลำโพงวางหิ้งจะออกแบบโดยอาศัยการทำงานร่วมกันของไดเวอร์ 2 ตัว โดยที่ตัวหนึ่งเรียกว่า “ทวีตเตอร์” (Tweeter) มีขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว ทำหน้าที่ถ่ายทอดความถี่ในย่านสูง (เสียงแหลม) กับไดเวอร์อีกตัวที่เรียกว่า “มิด–วูฟเฟอร์” (Mid-Woofer) มีขนาดอยู่ระหว่าง 4-7 นิ้ว ทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงในย่านกลางลงมาถึงทุ้มทั้งหมด ลำโพงวางหิ้งจึงถือว่าเป็นรูปแบบของลำโพงที่มีประสิทธิภาพ “ต่ำกว่า” ลำโพงตั้งพื้น เมื่อพิจารณาที่ความสามารถในการถ่ายทอดความถี่เสียง ทว่า จุดเด่นของลำโพงวางหิ้งที่ทำได้ดีกว่าลำโพงตั้งพื้นส่วนใหญ่ก็คือ ความสามารถในการถ่ายทอดคุณสมบัติทางด้าน “เวทีเสียง” (Soundstage) ของเสียง เนื่องจากตัวตู้มีขนาดเล็ก จึงกีดขวางการแพร่กระจายตัวของคลื่นเสียงที่แผ่ออกจากตัวไดเวอร์ “น้อยกว่า” ลำโพงตั้งพื้นที่มีขนาดตัวตู้ใหญ่กว่านั่นเอง

ด้วยเหตุที่มีขนาดตัวตู้ที่ค่อนข้างเล็กนี่เอง ทำให้ลำโพงวางหิ้งเป็นรูปแบบของลำโพงที่เหมาะสมต่อการใช้งานในสภาพที่มีพื้นที่ไม่กว้างใหญ่มาก หรือภายในห้องที่มีขนาดเล็ก แต่ถ้าเน้นคุณภาพเสียง ต้องไม่ลืมขาตั้งที่มีคุณภาพดีด้วย ซึ่งต้องถือว่า ขาตั้งเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับชุดเครื่องเสียง /