เมืองอัจฉริยะ (Smart City) คืออะไร และจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

By สุโสภาภรณ์ แดงอุบล

คำว่า เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City น่าจะเป็นคำคุ้นเคยที่ได้ยินกันตามสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในช่วงระยะเวลาไม่นานนี้ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนามุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City เพื่อมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสอดคล้องกับยุค Thailand 4.0

เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นรูปแบบการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล หรือข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารในการเพิ่มประสิทธิและคุณภาพของบริการชุมชน เพื่อช่วยในการลดต้นทุน และลดการบริโภคของประชากร โดยยังคงเพิ่มประสิทธิภาพให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ในคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น Smart City เป็นโครงการที่หลาย ๆ เมืองทั่วโลก พยายามพัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0 โดยการเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะทั้งด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองที่สะดวกสบายเหมือนในฝัน เกิดขึ้นได้จริง ทั้งยังทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขกันด้วย แนวคิด Smart City เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นรากฐานในการเชื่อมโยงอุปกรณ์หรือสิ่งของรอบ ๆ ตัวเข้ากับโครงข่ายการสื่อสารแบบอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการวางผังเมืองที่ชาญฉลาด รองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายรูปแบบการบริหารจัดการเมืองแบบ Smart City เป็นการสร้างเมืองที่จะมีการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการจัดสมดุลของสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และเลือกใช้พลังงานสะอาด จึงช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ การระบายน้ำ ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี คุณภาพอากาศที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Heat Island Effect) แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายที่คัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะต้นเเบบด้วยกัน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยความร่วมมือของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เน้น 5 เสาหลักสำคัญ ดังนี้

• เสาหลักที่ 1 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบ มีเป้าหมายในการเลือกเมืองที่มีศักยภาพ ที่จะใช้สำหรับการดำเนินงานนำร่อง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

• เสาหลักที่ 2 การปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีเป้าหมายที่จะบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ

• เสาหลักที่ 3 สร้างกลไกบริหารจัดการในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปสู่ภาคปฏิบัติ มีเป้าหมายให้มีผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการพื้นที่ จัดเตรียมองค์กร ระบบ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการให้บริการสาธารณะในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

• เสาหลักที่ 4 ผลักดันเมืองอัจฉริยะด้วยการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม มีเป้าหมายในการส่งเสริมและต่อยอดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่สามารถนำไปปรับใช้สำหรับเมืองอัจฉริยะในอนาคต

• เสาหลักที่ 5 ส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนเข้าถึงการเชื่อมโยงและการใช้งานข้อมูล โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูล สร้างการเรียนรู้ รวมทั้งสนับสนุนการวางแผน ตลอดจนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่เป็นเกาะขนาดไม่ใหญ่ ไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นประเทศที่เกิดขึ้นมาเพียง 50 กว่าปี แต่มากับแผน Smart Nation หรือประเทศแห่งนวัตกรรม ที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะใช้เทคโนโลยี IT ในการสร้างงานและสร้างรายได้ ทั้งยังมีเป้าหมายให้ประเทศกลายเป็นสังคมปลอดเงินสด ใช้ระบบ e-Payment ครอบคลุมในทุกธุรกิจสิงคโปร์เน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูล Open Government Data ที่ให้ประชาชน และภาคเอกชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ถึงจะเปลี่ยนเมืองให้ทันสมัยด้วย IT แต่สิงคโปร์ก็ให้ความสำคัญกับ Cybersecurity ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล โดยมีการป้องกันความเป็นส่วนตัวในข้อมูลของประชาชนและยังเน้นที่ระบบสาธารณสุข ดูแลสุขภาพของประชาชน และการขนส่ง โดยมองว่าอีก 15 ปีข้างหน้า ประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหากบริการด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพ มีการขนส่งด้วยเทคโนโลยีรองรับ จะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้สะดวกสบาย โดยด้านขนส่ง สิงคโปร์มีการพัฒนารถยนต์ขับเองได้ และด้านการแพทย์ ก็มีการใช้เทคโนโลยี TeleHealth ที่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพ แม้จะอยู่ที่บ้านได้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ ที่มีแอพฯ HealthHub ให้บันทึกข้อมูลสุขภาพแอพฯ MyResponder ที่เมื่อมีผู้ป่วยโรคหัวใจช็อค จะช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งเตือนเรียกรถพยาบาลให้ทันที ด้านการเดินทาง ที่มีแอพฯ MyTransport.SG ที่บอกตารางเวลา เส้นทางการเดินรถ หรือด้านความปลอดภัยที่มีแอพฯ ช่วยรายงานเหตุร้าย หรืออุบัติเหตุ และแอพฯ อื่นๆ อีกมากมายที่รัฐบาลออกมาให้ประชาชนใช้กันด้วย

ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ สิงคโปร์เข้าสู่การเป็น Smart City และมุ่งไปสู่การเป็น Smart Nation ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย ล่าสุดเป็น Smart City อันดับหนึ่งใน “ดัชนีผลประกอบการสมาร์ทซิตี้โลก” (Global Smart City Performance Index) ประจำปี ค.ศ. 2017ได้นั้น เกิดมาจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นหลัก ต่อให้ประเทศจะมีทรัพยากรจำกัดแค่ไหน แต่สิงคโปร์ก็สามารถเร่งศักยภาพของตนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้จากที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เหนือล้ำกว่าประเทศอื่น ๆ นโยบายทางการศึกษาและแรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่ช่วยผลิตคนให้มีความสามารถในการพัฒนาประเทศต่อไปได้เมืองจะ “สมาร์ท” หรือฉลาด ไม่ใช่เพราะใช้เทคโนโลยีที่จัดว่าฉลาด แต่ฉลาดเพราะใช้เทคโนโลยี “เป็น” ในทางที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร ทำให้เมืองยั่งยืนกว่าเดิม

ประเด็นสำคัญของความสำเร็จนี้ จึงมาจากการพัฒนาคน ปลูกฝังให้ตระหนักและมีส่วนร่วมอย่างมีคุณธรรม ดังนั้นระบบขนส่งดี ๆ ดูตารางรถเมล์ได้ตรงเวลา ท้องถนนไม่แออัด สาธารณสุขเป็นเลิศ บ้านเมืองปลอดภัยมีกล้องวงจรปิด ผลิตพลังงานร่วมกันใช้ ใส่ใจฟังเสียงประชาชน คงเป็นรูปแบบเมืองในฝันที่จะเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่มาจากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่เกิดได้จากทุกคนทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาไปด้วยกัน

1) โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ, เข้าถึงได้จาก

2)“คน” ต้องมาก่อน “เทคโนโลยี” (2) มอง “สมาร์ทซิตี้” สิงคโปร์,

(3) 6 Smart Cities น่าอิจฉา ตัวอย่างเมืองดี ๆ ที่เทคโนโลยีช่วยพัฒนา, เข้าถึงได้จาก

(4)โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ, เข้าถึงได้จาก