DAC คืออะไร ? External DAC อัปเกรดคุณภาพได้จริงหรือ ?

By สุโสภาภรณ์ แดงอุบล

1 min read

ระบบเสียงดิจิทัลหรือ digital audio นั้นถือกำเนิดขึ้นบนโลกและเริ่มถูกใช้แทนที่ระบบเสียงอะนาล็อกมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 นับถึงเวลานี้ก็เป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว

ในช่วงแรกนั้นผู้คนอาจพูดถึงระบบเสียงดิจิทัลในภาพรวม ต่อมาจึงได้มีการลงลึกไปในรายละเอียดแต่ละส่วน และส่วนหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคปัจจุบันก็คือ “DAC”

ทราบหรือไม่ว่า ในทุกวันนี้ชีวิตประจำวันของเราอาจมีหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน DAC อยู่โดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะ DAC ไม่ได้มีอยู่แค่ในระบบเสียง แต่ยังมีอยู่ในระบบภาพ ระบบควบคุมต่าง ๆ ด้วย

โดยทั่วไป DAC มีอยู่ในคอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน, สมาร์ททีวี, เครื่องเล่นเพลงระบบดิจิทัล, เอวีรีซีฟเวอร์, เกมคอนโซล ฯลฯ พูดได้ว่าอุปกรณ์ดิจิทัลสมัยใหม่แทบจะทุกรุ่นจะมีวงจร DAC อยู่ในตัวมันอยู่แล้ว

DAC คืออะไร?

DAC ย่อมาจากคำว่า “Digital to Analog Converter” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ตัวแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นอะนาล็อก เพราะว่ามนุษย์เราไม่สามารถเข้าใจภาษาแบบดิจิทัลได้ ดังนั้นสัญญาณข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งสัญญาณเสียงที่เข้ารหัสดิจิทัลมาจึงต้องผ่านการแปลงให้เป็นสัญญาณแบบอะนาล็อกเสียก่อน

อย่างที่ได้เรียนไว้ข้างต้นแล้วว่าโดยทั่วไปวงจร DAC จะมีอยู่ในอุปกรณ์ดิจิทัลเช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน, สมาร์ททีวี, เครื่องเล่นเพลงระบบดิจิทัล, เอวีรีซีฟเวอร์, เกมคอนโซล รวมทั้งเครื่องเสียงระบบดิจิทัลอยู่แล้ว

ในปัจจุบันแม้แต่เครื่องขยายเสียงหรือแอมปลิฟายเออร์บางรุ่นก็มีการผนวกเอา DAC มารวมไว้ในตัวด้วย สังเกตได้จากที่ตัวเครื่องมีอินพุตสามารถรับสัญญาณดิจิทัลได้โดยตรง

ในขณะที่มี DAC อีกจำนวนหนึ่งที่ถูกสร้างให้แยกชิ้นออกมาทำหน้าที่เป็น “External DAC” อย่างเดียว โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยอัปเกรดคุณภาพเสียงให้ดีกว่า DAC ที่มีอยู่ในตัวอุปกรณ์เหล่านั้น เนื่องจาก External DAC มักจะที่มีคุณภาพที่ดีกว่า สามารถแปลงเอาสัญญาณอะนาล็อกกลับมาคืนมาได้ครบถ้วนมากกว่า มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนน้อยกว่า

โดยทั่วไปใน DAC ส่วนใหญ่ทั้ง Internal DAC และ External DAC จะประกอบไปด้วย ภาครับสัญญาณจากขั้วต่อและอินเตอร์เฟซต่าง ๆ, วงจรกำเนิดสัญญาณนาฬิกาหรือ clock เพื่อควบคุมจังหวะการทำงานของการแปลงสัญญาณ, วงจรถอดรหัสและดิจิทัลฟิลเตอร์, วงจร DAC (I/V Converter), อะนาล็อกเอาต์พุต รวมถึงภาคจ่ายไฟ แต่ละส่วนล้วนแล้วแต่มีผลต่อคุณภาพเสียงทั้งสิ้น

อย่างเช่น ถ้าส่วนของสัญญาณนาฬิกามีความคลาดเคลื่อนจะทำให้เกิดปัญหาหนึ่งที่เรียกว่าจิตเตอร์ (jitter) ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพเสียงโดยตรง

อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญโดยเฉพาะในปัจจุบันของ DAC ที่ใช้งานในวงการเครื่องเสียงบ้านก็คือ ความสามารถในการรองรับ hi-res audio หรือไฟล์เสียงรายละเอียดสูง ทั้งฟอร์แมต PCM (Pulse Code Modulation) และ DSD (Direct Stream Digital, 1bit/2.8224 MHz) เช่น PCM 24bit/96kHz, 24bit/192kHz หรือ DSD64, DSD128 แตกต่างจาก DAC ในยุคแรก ๆ ที่เน้นให้รองรับแค่ฟอร์แมต CD Audio ซึ่งเป็น PCM 16bit/44.1kHz เท่านั้น

นอกจากเรื่องของฟอร์แมตและ resolution ของสัญญาณแล้ว ยังมีเรื่องของการเชื่อมต่อที่ต้องพิจารณา เพราะ DAC สมัยใหม่อาจมีขั้วต่ออินพุตให้เลือกใช้หลายรูปแบบเช่น Coaxial, Optical (TOSLink), AES/EBU, USB หรือ Ethernet บ้างก็สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth หรือ Wi-Fi

โดยทั่วไปแต่ละอินพุตอาจมีความสามารถในการรองรับความละเอียดของสัญญาณที่แตกต่างกันได้ เช่น อินพุต USB รองรับได้ถึง PCM 32bit/384kHz และ DSD128 แต่อินพุต Optical อาจรองรับได้แค่ PCM 24bit/192kHz เป็นต้น

นอกจากนั้น DAC บางรุ่นอาจถูกออกแบบให้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ด้วย บางรุ่นสามารถใช้งานแบบพกพาได้ (portable) โดยมีแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟซ้ำได้ในตัวเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้า บ้างก็ออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพอร์ต USB โดยตรงเช่น Meridian Explorer 2 หรือ Audioquest DragonFly

จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องอัปเกรดด้วย External DAC?

มาถึงจุดนี้เราได้ทราบกันแล้วว่า DAC แต่ละตัวมีคุณสมบัติและคุณภาพที่แตกต่างกัน ใน DAC ราคาประหยัดทั่วไป หากออกแบบมาไม่ดีพอก็อาจด้อยกว่าทั้งในแง่ของการรองรับไฟล์เสียงและคุณภาพเสียง

บ้างใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพต่ำ หรือเป็นวงจรอย่างง่ายที่ออกแบบมาแค่ให้มีเสียงออกมา แต่ไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องของ jitter, การแยกช่องสัญญาณ รวมทั้งเรื่องของสัญญาณรบกวน โดยเฉพาะ DAC ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรือเครื่องเล่นดิจิทัลออดิโอ/วิดีโอ (DVD, Blu-ray, Android Box, Apple TV) ทั่วไปที่ไม่ได้เน้นคุณภาพเสียง

ในกรณีเช่นนี้การพิจารณาเลือกอัปเกรดด้วย External DAC ก็มีโอกาสจะได้เสียงที่ดีกว่า หรือทำให้สามารถเล่นไฟล์ hi-res audio ได้รายละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์กว่า

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตบางรุ่นที่ผู้ผลิตตั้งใจออกแบบให้มีคุณภาพเสียงดีเป็นพิเศษ ด้วยการเลือกใช้ชิป DAC คุณภาพสูงที่รองรับไฟล์เสียง hi-res audio ได้โดยตรง อย่างเช่น สมาร์ทโฟน LG รุ่น V30 หรือแท็บเล็ต Huawei MediaPad M5 เป็นต้น ในกรณีนี้การเพิ่ม External DAC ก็อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพได้อย่างที่คิดก็เป็นได้โดยเฉพาะ External DAC ในระดับราคาย่อมเยา

ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าการเพิ่ม External DAC แล้วจะต้องได้คุณภาพที่ดีขึ้นเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานคุณภาพของ Internal DAC ที่มีอยู่ในตัวอุปกรณ์เองด้วย

ดังนั้นก่อนตัดสินใจอัปเกรดอุปกรณ์ของเราด้วย External DAC ควรหาโอกาสลองฟังให้มั่นใจก่อนการตัดสินใจลงทุนนะครับ เพราะว่า External DAC บางรุ่นอาจแค่ทำให้ “เสียงเปลี่ยน” แต่ไม่ได้ให้คุณภาพเสียงที่ “เหนือกว่า” จนคุ้มค่าการลงทุนก็เป็นได้ครับ

Facebook Notice for EU! You need to login to view and post FB Comments!